ดีมานด์ “ปูม้า” ตลาดใน-นอกพุ่ง “ประมง”รุกปล่อย 2 หมื่นแม่พันธุ์ลงทะเล ฟื้นชีพสู่ “อ่าวไทย-อันดามัน”
“ปูม้า” หนึ่งในอาหารทะเลยอดนิยมหรือที่หลายคนนิยมนำมาทำเป็นเมนู “ปูไข่ดอง” อาหารขึ้นโต๊ะจานเด็ด แต่ทราบกันหรือไม่ว่า จำนวนปูในท้องทะเลไทยกำลังลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว กระทั่งกรมประมงได้มีการประกาศใช้พระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 แก้ไข พ.ศ. 2560 ทำให้ระบบการจับปูม้าในเชิงอุตสาหกรรมอาหารถูกปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้น และเกิด “ธนาคารปูม้าประมงพาณิชย์” เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูจำนวนประชากรปูม้าคืนสู่ทะเล แต่กระแสการบริโภคยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนคาดการณ์ยากถึงความยั่งยืนของทรัพยากรปูม้าในอนาคต
“เพราลัย นุชหมอน” ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงทะเล กรมประมง ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลของประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก ยิ่งในภาวะวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสให้ประเทศไทยส่งออกได้มากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นว่ามีมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านสุขอนามัยสูง ส่งผลให้สินค้าอาหารทะเลหลายชนิดได้รับความนิยม รวมถึงการส่งออกปูม้าสดแช่เย็น-แช่แข็ง และผลิตภัณฑ์เนื้อปูม้าพาสเจอไรซ์บรรจุกระป๋อง ซึ่งมีตลาดส่งออกหลักไปประเทศสหรัฐอเมริกา จีน ไต้หวัน และฮ่องกง
“ความต้องการปูม้าในตลาดมีมาอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มตั้งแต่ปี 2556-2557 ซึ่งมีผลให้จับปูม้ามากที่สุดปี 2557 มีปริมาณการจับ 44,000 ตัน ปี 2558 จับได้ 41,000 ตัน ปี 2559 จับได้ 31,000 ตัน จนกระทั่งประเทศไทยประกาศใช้พระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 แก้ไข พ.ศ. 2560 ซึ่งไทยได้ให้ความร่วมมือกับมาตรการสากล และให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 เพื่อแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรเกินกว่าปริมาณที่ธรรมชาติสามารถผลิตได้ ซึ่งปูม้าก็เป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลที่ถูกควบคุมตามมาตรการดังกล่าวด้วย”
หลังจากนั้นปริมาณการจับปูม้าก็ลดลง ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น การจำกัดจำนวนเรือประมง มาตรการควบคุมวันทำการประมงและเครื่องมือทำประมง ส่งผลให้ในปี 2560 มีการจับปูม้าเหลือเพียง 29,000 ตัน และเริ่มสนับสนุนการจัดทำ “ธนาคารปูม้า” ขึ้นในประเทศไทย ผ่านโครงการคืนปูม้าสู่ทะเลไทยของรัฐบาล จำนวน 520 แห่ง แบ่งเป็นของกรมประมง 191 แห่ง และของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ 329 แห่ง ทำให้สถานการณ์ทรัพยากรปูม้าเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น โดยในปี 2561 จับได้ 24,000 ตัน และปี 2562 จับได้ 28,000 ตัน
จากการประเมินทรัพยากรปูม้าในอ่าวไทยปัจจุบันพบว่า มีปริมาณผลผลิตสูงสุด 30,000 ตัน/ปี โดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามันมีปริมาณถึง 7,484 ตัน/ปี เป็นภาพการฟื้นคืนของปูม้าแบบยั่งยืนและจับได้ตลอดทั้งปี
“ภาพรวมล่าสุดผลผลิตปูม้าที่จับได้ เข้าสู่ตลาดภายในประเทศประมาณ 70% ส่งออกประมาณ 30% เห็นได้จากตัวเลขส่งออกปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 5,000 ตัน มูลค่า 1,650 ล้านบาท ในปี 2562 ส่งออกประมาณ 4,700 ตันมูลค่า 1,465 ล้านบาท โดยบริเวณที่สามารถจับปูม้าได้มากที่สุด คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และจันทบุรี รวมไปถึงอ่าวพังงาบางส่วน”
ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยมีการทำโรงงานแปรรูปปูม้าเชิงอุตสาหกรรมส่งออกจำนวนมาก รวมถึงแนวโน้มการบริโภคปูม้าของผู้บริโภคในประเทศมีมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณเนื้อปูที่จับได้ภายในประเทศมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดังนั้น โรงงานแปรรูปผู้ประกอบการหลายแห่งจึงนำเข้าเนื้อปูสดแช่เย็นแช่แข็งจากประเทศแถบตะวันออกกลาง อาทิ บาห์เรน ปากีสถาน เป็นกลุ่มประเทศที่ไม่นิยมบริโภค โดยปี 2561 มีการนำเข้าประมาณ 2,500 ตัน ปี 2562 มีการนำเข้าประมาณ 2,800 ตัน แต่ปูที่นำเข้ามีราคาสูง และคุณภาพสู้เนื้อปูภายในประเทศไทยไม่ได้
“เพราลัย” บอกว่า ปูม้าถือเป็นสัตว์ทะเลที่สามารถเพาะและขยายพันธุ์ได้ แต่เลี้ยงทดแทนการจับจากธรรมชาติยากมาก จึงยังไม่สามารถพัฒนาการเลี้ยงในบ่อได้เหมือนกุ้ง จึงไม่สามารถเพิ่มปริมาณให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและการส่งออก
“การทำธนาคารปูม้าส่วนใหญ่มีการสนับสนุนให้ดำเนินการโดยชุมชนพื้นบ้านเป็นหลัก โดยการนำแม่ปูที่มีไข่นอกกระดองมาเพาะเลี้ยงในโรงเรือน ปล่อยให้ไข่ฟักกลายเป็นลูกปูขนาดเล็ก ซึ่งแม่ปู 1 ตัว จะให้ลูกปูประมาณ1 ล้านตัว หลังจากนั้นจึงนำลูกปูไปปล่อยในธรรมชาติ แต่อัตราการรอดชีวิตของลูกปูมีเพียงแค่ 1% และจะเติบโตเป็นแม่ปูที่สามารถฟักไข่ได้ประมาณแค่ 160 ตัวเท่านั้น”
ดังนั้น กรมประมงได้มีการขอความร่วมมือจากชาวประมงพาณิชย์ หากจับได้ปูไข่นอกกระดองให้ปล่อยลงทะเล ตัวอย่างเช่น สมาคมประมงอวนลาก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีเรือทำประมงพาณิชย์อยู่ประมาณ 40 กว่าลำ ขอให้กรมประมงเข้าไปสอนโครงการธนาคารปูม้าและช่วยกันอนุรักษ์ปูม้ากลับคืนสู่ทะเล และนับตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน
แนวคิดการอนุรักษ์นี้ได้ถูกขยายไปสู่สมาคมประมงแห่งประเทศไทย ได้ให้ความร่วมมือในมีการปล่อยแม่พันธุ์ปูม้าลงทะเลไปแล้วกว่า 20,000 ตัว โดยมีระบบการจดบันทึกข้อมูลและสื่อสารกับกรมประมงตลอดมา
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแปรรูป “เพราลัย” บอกว่า กรมประมงได้ทำความร่วมมือกับสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย และภาคเอกชน ทำโครงการ Fishery Improvement Project เกี่ยวกับแผนปรับปรุงการประมงปูม้าของไทยควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ความรู้ในการทำธนาคารปูม้ากับชุมชนเป็นหลัก โดยการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการใช้เครื่องมือทำการประมงพบว่า 50% ของผลการจับปูม้ามาจากการทำประมงพื้นบ้าน และอีก 50% มาจากการประมงพาณิชย์
“สำหรับทิศทางตลาดปูม้าในปี 2563 นี้ ชาวประมงสามารถกระจายปูม้าผ่านระบบตลาดออนไลน์ได้มากขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนวิธีขายมาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งรูปแบบการตลาดและแพ็กเกจ การที่รัฐบาลควบคุมโควิด-19 ได้ถือว่าเป็นแรงบวกอย่างมาก เห็นได้จากเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการในสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยทั้งจากโรงงานที่สุราษฎร์ธานีและสมุทรสาคร โดยเฉพาะบริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้ผลิตเนื้อปูม้าพาสเจอไรซ์บรรจุกระป๋อง ปูนิ่มแช่แข็งและสินค้าเนื้อปูแปรรูปต่าง ๆ ส่งขายทั้งตลาดภายในประเทศ และส่งออก ซึ่งมีธนาคารปูม้าเป็นของตัวเองก็ยังดำเนินธุรกิจได้ดีอยู่ แม้การส่งออกสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังทำได้ไม่เต็มที่”
ดังนั้น ในอนาคตปูม้าในท้องทะเลไทยจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น เพื่อเป็นอาหารให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคหรือไม่ คงอยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจของผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในการช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าของไทย โดยเฉพาะการรณรงค์ไม่กิน “ปูไข่นอกกระดอง” และ “ปูขนาดเล็ก” เพื่อชาวประมงจะได้ไม่จับมาขาย และให้ปูม้าได้ขยายพันธุ์ในท้องทะเลให้มีการใช้ประโยชน์กันอย่างยั่งยืนตลอดไป
"อาหารทะเล" - Google News
June 25, 2020 at 09:30AM
https://ift.tt/3fWybnM
ดีมานด์ "ปูม้า" ตลาดใน-นอกพุ่ง "ประมง" รุกปล่อย 2 หมื่นแม่พันธุ์ลงทะเล - ประชาชาติธุรกิจ
"อาหารทะเล" - Google News
https://ift.tt/2yUZcrI
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ดีมานด์ "ปูม้า" ตลาดใน-นอกพุ่ง "ประมง" รุกปล่อย 2 หมื่นแม่พันธุ์ลงทะเล - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment